ล่องเรือแม่น้ำอิระวดีสู่มิงกุน
Cr. www.addsiam.com
แม่น้ำอิรวดี ซึ่งชาวพม่าเรียกว่า “เอยาวดี” แปลว่า “มหานที” นั้น ทั้งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตและอู่อารยธรรมหล่อเลี้ยงนับพันปี มีต้นกำเนิดมาจากขุนเขาในรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือสุดของพม่าไหลผ่านใจกลางพม่าไปออกทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่เขตอิรวดีใกล้กรุงย่างกุ้ง คิดเป็นระยะทางรวม 2,170 กิโลเมตร มีจุดล่องเรือชมความงามของแม่น้ำอิรวดีหลายจุด แต่ที่ได้รับความนิยมจุดหนึ่งคือล่องจากชานเมืองมัณฑะเลย์ หรือจากท่าเรือใกล้เจดีย์ชเวไจยัต เขตเมืองอมรปุระ ทวนน้ำไปหมู่บ้านมิงกุน ซึ้งเป็นส่วนหนึ่งของอมรปุระ แต่อยู่บนเกาะกลางลำน้ำอิรวดีและไปได้ด้วยเส้นทางเรือเท่านั้นทว่ามีอนุสรณ์สถานที่แสดงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าปดุง อันควรแค่แก่การไปเที่ยวชม โดยใช้เวลาล่องประมาณชั่วโมงครึ่ง รวบเวลาเที่ยวแล้วล่องกลับใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสามชั่วโมงครึ่ง ระหว่างทางจะได้เห็นหมู่บ้านอิรวดีที่มีลักษณะเป็น “กึ่งบ้านกึ่งแพ” เนื่องจากระดับน้ำอิรวดีในแต่ละฤดูกาลจะมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำจะขึ้นสูงกว่าฤดูแล้วกว่า 10 เมตร ชาวพม่าจึงนิยมสร้างบ้านกึ่งแพ คือถ้าน้ำขึ้นสูงก็ร่วมแรงกันยกบ้านขึ้นที่ดอน ครั้นน้ำลงมากก็ยกบ้านมาตั้งใกล้น้ำ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้แม่น้ำในชีวิตประจำวัน
Cr. i.ytimg.com
เจดีย์มิงกุน เมื่อขึ้นฝั่งที่ท่าเรือหมู่บ้านมิงกุนจะพบโบราณสถานจุดแรกคือ เจดีย์เซตตอยา ซึ่งพระเจ้าปดุงโปรดฯให้สร้างครอบรอยพระพุทธบาทจำหลังบนหินอ่อน เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวย่างสู่ดินแดนที่พระเจ้าปดุงมีพระราชดำริจะสร้างเจดีย์มิงกุน หรือ “เจดีย์จักรพรรดิ” ที่ใหญ่ที่สุดและสูงกว่าเจดีย์ใดๆในสุวรรณภูมิ
จุดต่อมาคือซากเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างไม่เสร็จ มีสิงห์คู่ประดับอยู่ด้านหน้า นั่นคือเจดีย์มิงกุน ร่องรอยแห่งความทะเยอทะยานของพระเจ้าปดุง ด้วยภายหลังทรงเคลื่อนทัพไปตียะไข่ แล้วสามารถชะลอพระมหามัยมุนีมาประดิษฐานที่มัณฑะเลย์เป็นผลสำเร็จ จึงทรงฮึกเหิมที่จะกระทำการใหญ่ขึ้นและยากขึ้น ด้วยการทำสงครามแผ่ขยายไปรอบด้าน พร้อมกับเกณฑ์แรงงานข้าทาสจำนวนมากก่อสร้างเจดีย์มิงกุนหรือเจดีย์จักรพรรดิ เพื่อประดิษฐานพระทันตธาตุที่ได้จากพระเจ้ากรุงจีนโดยทรงมุ่งหวังให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่ามหาเจดีย์ในสมัยพุกาม และใหญ่โตโอฬารยิ่งกว่าพระปฐมเจดีย์ในสยาม ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในสุวรรณภูมิ ส่งผลให้ข้าทาสชาวยะไข่หรืออาระกันจำนวน 50,000 คนหลบหนีการขดขี่แรงงานไปอยู่ในเขตเบงกอล เป็นดินแดนในอาณัติของอังกฤษ แล้วทำการซ่องสุมกำลังเป็นกองโจร ลอบโจมตีกองทัพพม่าอยู่เนืองๆโดยพม่ากล่าวหาว่าอังกฤษหนุนหลังกลายเป็นฉนวนให้เกิดสงครามอังกฤษ-พม่า อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พม่าเสียเมืองในที่สุด
Cr. i.ytimg.com
ระฆังมิงกุน ไม่ไกลจากฐานเจดีย์มิงกุนคือระฆังมิงกุน ที่พระเจ้าปดุงโปรดฯให้สร้างโดยสำเร็จ เพื่ออุทิศทวายแด่มหาเจดีย์มิงกุน จึงต้องมีขนาดใหญ่คู่ควรกัน คือเป็นระฆังยักษ์ที่มีเส้นรอบวงถึง 10 เมตร สูง 3.70 เมตร น้ำหนัก 87 ตัน เล่าขานกันว่า พระเจ้าปดุงทรงไม่ต้องการให้มีใครสร้างระฆังเลียนแบบ จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตนายช่างทันทีที่สร้างเสร็จ ปัจจุบันถือเป็นระฆังยักษ์ที่มีขนาดเล็กกว่าระฆังแห่งหนึ่งแห่งพระราชวังเครมลินในกรุงมอสโกเพียงใบเดียวทว่าระฆังเครมลินแตกร้าวไปแล้ว ชาวพม่าจึงภาคภูมิใจว่าระฆังมิงกุนเป็นระฆังยักษ์ที่ยังคงส่งเสียงก้องกังวาน ทั้งนี้เคยมีการทดสอบความกว้างใหญ่ของระฆังใบนี้ โดยให้เด็กตัวเล็กๆไปยืนรวมกันอยู่ใต้ระฆังได้ถึง 100 คน
Cr. image.zizzee.com
เจดีย์ชินพิวมิน (เมียะเต็งดาน) ประดิษฐานอยู่เหนือระฆังมิงกุนไม่ไกล ได้ชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่สวยสง่ามากแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2359 โดยพระเจ้าบากะยีดอว์ พระราชนัดดาในพระเจ้าปดุง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่พระองค์มีต่อพระมหาเทวีชินพิวมิน ซึ่งถึงแก่พิราลัยก่อนเวลาอันควร จึงได้รับสมญานามว่า “ทัชมาฮาลแห่งลุ่มอิรวดี” เจดีย์องค์นี้เป็นพุทธศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยหลักภูมิจักรวาลคือมีองค์เจดีย์สถิตอยู่ตรงกลาง ณ ยอดเขาพระสุเมรุ อันเชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางและโลกและจักรวาล ล้อมรอบด้วยขุนเขาและมหาสมุทรตามหลักไตรภูมิ
Cr. secure-img.traveligo.com
เจดีย์กวงมูดอร์ หรือวัดเจดีย์นมนาง สร้างโดยพระเจ้าต้าหลู่ เมื่อปี ค.ศ. 1636 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วหรือพระทันตธาตุที่ได้มาจากลังกา เจดีย์นี้เป็นเจดีย์ทรงโอคว่ำแบบสิงหล หรือเจดีย์ทรงลังกา มีตำนานเล่าว่าองค์ระฆังทรงกลมผ่าครึ่งซีกนี้ ได้ต้นแบบมาจากถัน พระชายาคนโปรดของพระเจ้าต้าหลู่ องค์เจดีย์มีความสูง 46 เมตร เส้นรอบวงวัดได้ 274 เมตร